สาระน่ารู้เรื่องสายตา

ใช้สายตาในที่มืด หรือที่สั่นไหว ส่งผลต่อค่าสายตา หรือสุขภาพตาอย่างไร ?

เล่นโทรศัพท์/อ่านหนังสือในที่มืดหรือในที่สั่นไหว ส่งผลต่อสายตา สุขภาพตาหรือไม่อย่างไรบ้าง

หัวข้อที่กล่าวมาข้างต้นคือสิ่งที่เราได้ยินคนอื่นเล่าต่อๆกันมาว่าลักษณะพฤติกรรมเหล่านี้จะมีผลเสียต่อดวงตา ไม่ว่าจะเป็นทำให้ค่าสายตาเปลี่ยน สุขภาพตาแย่ลง แต่แท้จริงแล้วจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่

สิ่งแรกเราควรทราบก่อนคือค่าสายตาที่ผิดปกติเกิดขึ้นจากอะไร สิ่งใดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสายตาสั้น ยาวและเอียง

คำตอบคืออวัยวะส่วนที่เรียกว่า กระจกตาหรือตาดำ, เลนส์แก้วตา และ ความยาวกระบอกตา ทั้ง 3 ส่วนนี้คืออวัยวะหลักที่มีผลต่อระบบการหักเหแสงภายในดวงตา กล่าวคือเมื่อใดก็ตามที่รูปร่างของอวัยวะเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะก่อให้เกิดเป็นค่าสายตาสั้น ยาว เอียง ขึ้นมาได้ คำถามถัดมาคือ แล้วอะไรบ้างที่จะทำให้อวัยวะ3ส่วนนี้เกิดการเปลี่ยนรูปร่างได้ แบ่งออกเป็น

 

 

1. กระจกตา/ตาดำเปลี่ยนรูปร่าง : มีสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่ การขยี้ตา, หนังตาตก, มีต้อเนื้อ, อายุมากขึ้น

2. เลนส์แก้วตา : เนื่องจากอวัยวะส่วนนี้อยู่ภายในลูกตาจึงไม่มีปัจจัยภายนอกใดที่จะทำให้รูปร่างเปลี่ยนได้ โดยมีเพียงปัจจัยเดียวที่สามารถทำให้เลนส์แก้วตามีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้คืออายุที่มากขึ้นเท่านั้น

3. ความยาวกระบอกตา : จากข้อมูลข้างต้นจะสังเกตได้ว่ารูปร่างอวัยวะจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อมีบางอย่างไปกระทำกับกายวิภาคของลูกตา ซึ่งการใช้สายตาในที่มืดหรือในที่สั่นไหว ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับทางสรีระดวงตาเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นคำกล่าวที่ว่าค่าสายตาจะแย่ลงเมื่อมองในที่มืดหรือในที่สั่นไหวนั้น ไม่เป็นความจริง แต่ก็จะมีข้อยกเว้นในกรณีที่เป็นเคสเด็ก เพราะเด็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ขนาดกะโหลกเบ้าตา ลูกตา ยังสามารถขยายให้ใหญ่ยาวขึ้นได้อีก เมื่อเด็กใช้สายตาระยะใกล้ในที่มืดบ่อยๆ พบว่ามีโอกาสทำให้เด็กมีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เหตุผลเป็นเพราะว่าดวงตาของเด็กตอบสนองต่อการเพ่งได้มาก ทำให้มีผลต่อการยืดลูกตาให้ยาวขึ้น โดยลูกตาที่ยาวขึ้นนั้นจะส่งผลให้เด็กมีสายตาสั้นมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ผู้ใหญ่เวลามองใกล้ในที่มืดก็เพ่งเหมือนกัน แต่ความยาวกระบอกตาไม่เปลี่ยนแปลง เพราะดวงตาเบ้าตาโตเต็มที่จึงยืดไม่ได้อีกแล้วนั่นเอง

 

สุขภาพตา

ในส่วนสุขภาพตาจะมีผลทำให้เกิดอาการปวดตาไม่สบายตาได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการมอง ทำให้ดวงตาต้องเพ่งอย่างหนักเพื่อพยายามโฟกัสภาพให้ชัดอยู่ตลอดเวลา จึงมีอาการล้าตาได้อย่างรวดเร็ว หากมีพฤติกรรมแบบนี้บ่อยๆ อาจทำให้ปัญหาลุกลามไปถึงอาการปวดหัวได้ด้วย

 

ข้อสรุป

กรณีที่เป็นผู้มีอายุตั้งแต่ประมาณ25ปีขึ้น การใช้สายตาระยะใกล้อย่างหนักหรือในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ไม่มีผลทำให้ค่าสายตาเปลี่ยนแปลง แต่อาจมีผลทำให้เกิดอาการตาล้า ตาเบลอ ปวดตาได้

กรณีที่เป็นผู้มีอายุต่ำกว่าประมาณ20ปีลงไป การใช้สายตาระยะใกล้อย่างหนักหรือในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จะเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้เกิดค่าสายตาเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรได้

 

Ploy L

Recent Posts

This website uses cookies.