เพราะการตัดแว่นมีหลากหลายปัจจัยที่ต้องดูแลและใส่ใจอย่างละเอียดอ่อน ควรได้รับการวัดสายตาที่ถี่ถ้วนโดยนักทัศนมาตร หากคุณพึ่งตัดแว่นสายตามาใหม่แต่ใส่แล้วการมองเห็นยังไม่ดีขึ้น มีอาการไม่สบายตา ปวดหัว ตาล้า อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
1. จ่ายค่าสายตาผิด
การจ่ายค่าสายตาที่น้อยเกินไปจะทำให้มองเห็นภาพไม่คมชัด ส่วนการจ่ายค่าสายตาที่มากเกินไปอาจมองได้คมชัด แต่จะทำให้กล้ามเนื้อตาและเลนส์แก้วตาต้องทำงานอย่างหนักเพื่อชดเชยค่าสายตาที่ใส่เกินมาจนมีอาการไม่สบายตา ปวดตา และอาจนำไปสู่อาการปวดหัวได้อีกด้วย ดังนั้นการใส่แว่นที่ตรงกับค่าสายตาคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
2. วางจุดเซ็นเตอร์เลนส์ของแว่นไม่ตรงกับเซ็นเตอร์ของตา
สาเหตุนี้ไม่มีผลต่อความคมชัด แต่มีผลโดยตรงต่อความไม่สบายตาและสุขภาพตา เนื่องจากเวลามองผ่านเลนส์ที่มีเซ็นเตอร์ผิดเพี้ยนจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “Prism Effect” โดยปริซึมเอฟเฟ็กต์จะทำให้ภาพที่มองเห็นนั้นเลื่อนตำแหน่งไปจากตำแหน่งจริง (ภาพหลอกตา) ตาจึงต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับตำแหน่งภาพหลอกตาเหล่านี้ ส่งผลให้กล้ามเนื้อตาทำงานผิดปกติจนนำไปสู่อาการปวดตา ปวดหัวและอาจรุนแรงถึงขั้นเห็นภาพซ้อน
3. ระยะห่างระหว่างเลนส์แว่นตาถึงกระจกตาไม่เหมาะสม (Cornea Vertex Distance)
Cornea Vertex Distance มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อความชัดและสิ่งที่เรียกว่า Spatial Distortion หรือความบิดเบือนของภาพเวลามองผ่านเลนส์ (ภาพเบี้ยว/หด/บวม) โดยปกติค่า Cornea Vertex Distance (CVD) มาตรฐานจะอยู่ที่ 12 มิลลิเมตร (ไม่ควรสูงกว่า 14 mm หรือต่ำกว่า 12 mm) ในกรณีที่มีค่าสายตาสูง หาก Cornea Vertex Distance (CVD) ยิ่งห่างจากค่ามาตรฐานมาก ความคมชัดอาจลดลงและความบิดเบือนของภาพเวลามองผ่านเลนส์จะมากขึ้นตามไปด้วย ถ้าไม่สามารถตั้งค่า CVD ให้อยู่ในค่ามาตรฐานได้โดยการปรับดัดแว่น เนื่องจากมีข้อจำกัดทางสรีระบนใบหน้าหรือข้อจำกัดของทรง วัสดุ และขนาดของกรอบแว่นตานั้น การเลือกใช้เลนส์ที่มีโครงสร้างเฉพาะบุคคลจะช่วยลดความเบลอและภาพบิดเบือนได้ เพราะเลนส์เฉพาะบุคคลจะนำค่า CVD รวมถึงค่าอื่นๆเช่น มุมโค้ง มุมเท ความสูง/ความกว้างของหน้าแว่นมาคำนวณโครงสร้างของเลนส์ จึงออกมาเป็นเลนส์ที่สามารถชดเชยค่าส่วนต่างที่ไม่ตรงกับค่ามาตรฐานได้
4. ขนาดของเลนส์หน้าแว่นที่ใหญ่เกินไป (Frame Size) สำหรับคนที่มีค่าสายตาสูง
เลนส์ที่มีค่าสายตาสูง บริเวณขอบเลนส์จะมีความหนาและภาพบิดเบือนที่รุนแรง ต่างจากตรงบริเวณกลางเลนส์ที่บางและภาพบิดเบือนน้อยกว่า เลนส์จึงมีคุณภาพของภาพที่ดีเฉพาะบริเวณเซ็นเตอร์เท่านั้นและจะแย่ลงเมื่อมีการมองหลุดเซ็นเตอร์หรือมองบริเวณขอบๆเลนส์ วิธีเลือกกรอบแว่นควรเลือกหน้าแว่นให้มีขนาดเล็ก เพราะกรอบยิ่งเล็กเท่าไหร่ บริเวณขอบเลนส์ที่หนาก้อจะถูกเจียออกมากขึ้นเท่านั้น ภาพบิดเบือนด้านข้างจะน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นหากคุณมีค่าสายตาที่สูง ตัดแว่นมาใส่แล้วชัดดีแต่ไม่สบายตา การเลือกกรอบแว่นหน้าเล็กก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดความไม่สบายตาได้
5. เลือก Index เลนส์ไม่เหมาะสม
ในเคสที่สายตาเยอะ เลนส์มักจะมีความหนามาก เหมือนเวลาที่เรามองผ่านแก้วน้ำใสที่มีความหนามากๆจะเห็นว่าภาพมีความบิดเบี้ยว ดังนั้นการเลือกเลนส์ Index สูงๆจะช่วยให้เลนส์บางขึ้นและลดความบิดเบือนของภาพให้น้อยลงได้
6. โครงสร้างเลนส์ไม่เหมาะสมกับค่าสายตา
เคสที่มีค่าสายตาซับซ้อนเช่น สั้น+เอียงเยอะๆ การควบคุมปัจจัยข้อ 1-5 อาจยังไม่เพียงพอต่อการเป็นแว่นที่ใส่แล้วชัดสบายตาที่สุด เพราะการเลือกโครงสร้างเลนส์ระดับสูงที่ช่วยลดภาพบิดเบือนความเบี้ยวได้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยคุณสมบัติเหล่านี้จะมีเฉพาะในเลนส์รุ่น Multigressive และ รุ่น Individual เท่านั้น
7. มีโรคตาที่ทำให้มองไม่ชัด
สาเหตุนี้เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดสำหรับการใส่แว่น เพราะโรคตาที่ทำให้การมองเห็นแย่ลงส่วนมากมักจะไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ด้วยเลนส์สายตา หากชัดขึ้นก็จะชัดขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่นโรคต้อกระจกระยะสุดท้าย เป็นโรคอันดับต้นๆของผู้สูงวัยที่เป็นกันมาก การมองเห็นของโรคนี้จะค่อยๆแย่ลงตามต้อกระจกที่ทึบขึ้น เพราะแสงจากภายนอกตาไม่สามารถวิ่งทะลุผ่านความทึบของต้อกระจกได้ เลนส์สายตาที่อยู่ข้างนอกดวงตาจึงแก้ไขอะไรไม่ค่อยได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้สูงวัยที่มีต้อกระจกจึงไม่อาจคาดหวังให้เลนส์สายตาแก้ไขความชัดได้ครบ 100% แต่จะลดทอนลงความชัดลงมาตามระดับความเข้มต้อกระจกที่เพิ่มขึ้น เป็นสัดส่วนแปรผกผันกัน
จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายปัจจัยที่มีผลต่อการมองเห็นที่ดี จึงควรให้ความสำคัญกับการวัดสายตาตัดแว่นทุกครั้ง โดยรับการตรวจวัดสายตาที่ละเอียดถี่ถ้วนโดยนักทัศนมาตรผู้เชี่ยวชาญ
ติดต่อเพื่อปรึกษาปัญหาสายตาและตรวจวัดค่าสายตาได้ที่ Occura
ติดต่อปรึกษาตรวจวัดสายตากับโอคูระ | มิติใหม่ของร้านแว่นตา พร้อมบริการแบบส่วนตัว T : 02-645-0192 l M : 081-611-6823 l Line : @occura l FB / IG : occuravision
100/74 อาคารว่องวานิช บี ชั้น 23 ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320